การรบที่บ้านสระเกศ

เมื่อพระยาพสิมกับพระเจ้าเชียงใหม่ เสียทีแก่ไทยถอยทัพกลับไปแล้ว พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ทรงขัดเคืองพระเจ้าเชียงใหม่ว่า เฉื่อยช้าทำการไม่ทันกำหนดตามแผนการรบที่วางไว้ ทำให้พระยาพสิมเสียที จึงได้ให้ข้าหลวงสามคน เข้ามากำกับกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งถอยทัพไปตั้งอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร ให้ทำการแก้ตัวใหม่ จึงได้ยกทัพลงมาตั้งอยู่ที่เมืองนครสวรรค์ เมื่อเดือน 4 ปีวอก พ.ศ. 2128 พร้อมกันนั้น ก็ได้ให้พระมหาอุปราชา คุมกองทัพมีกำลังพล 50,000 คน เข้ามาตั้งอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร เมื่อเดือน 5 ปีระกา พ.ศ. 2128 ให้ไพร่พลทำนาอยู่ในท้องที่หัวเมืองเหนือ เพื่อเตรียมเสบียงอาหารไว้สำหรับกองทัพใหญ่ ซึ่งพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงจะเสด็จยกมาเอง ในฤดูแล้งปลายปีระกา         พระเจ้าเชียงใหม่ได้รับมอบหมายให้ลงมาขัดตาทัพ อยู่ที่เมืองชัยนาท เพื่อคอยขัดขวางมิให้กองทัพกรุงศรีอยุธยา ยกขึ้นไปขัดขวางการสะสมเสบียงอาหาร ของกองทัพกรุงหงสาวดีในหัวเมืองภาคเหนือ กองกำลังของพระเจ้าเชียงใหม่ ได้ยกลงมาถึงบ้านสระเกศ แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ คอยรบกวนไม่ให้ฝ่ายไทยทำไร่ทำนาได้ในปีนั้น ให้เจ้าเมืองพะเยาคุมกองทหารม้า ลงมาเผาบ้านเรือนราษฎร และไล่จับผู้คน จนถึงสะพานเผาข้าวใกล้พระนคร

ฝ่ายไทย เมื่อทราบข่าวข้าศึกยกลงมาทางเหนือ สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นว่า ข้าศึกยกลงมาครั้งนี้เป็นทัพใหญ่ มีกำลังพลมากนัก การออกไปสะกัดกั้นกลางทางจะทำได้ยาก จึงได้กวาดต้อนผู้คนเข้ามาไว้ในกรุงศรีอยุธยา เตรียมการรักษาพระนครไว้ให้เข้มแข็ง เมื่อพระองค์ทราบการกระทำของข้าศึกดังกล่าว จึงเสด็จคุมกำลังออกไปพร้อมกับ สมเด็จพระเอกาทศรถ เข้ารบพุ่งข้าศึกถึงขั้นตลุมบอน เจ้าเมืองพระเยาตายในที่รบ ไพร่พลที่เหลือก็พากันแตกหนีไป พระองค์ทรงพระดำริเห็นว่า จะต้องตีกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกศให้แตกกลับไป จึงทรงรวบรวมรี้พลจัดกองทัพบกทัพเรือมีกำลังพล 80,000 คน ไปตั้งประชุมพลที่ทุ่งลุมพลี ในห้วงเวลานั้นได้ข่าวลงมาว่า มีกองกำลังเมืองเชียงใหม่ ยกมากวาดต้อนผู้คนจนถึงบ้านป่าโมก พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถ ก็รีบเสด็จไปด้วยกระบวนเรือเร็ว ถึงตำบลป่าโมกน้อย ก็พบกองทัพสะเรนันทสู ซึ่งพระเจ้าเชียงใหม่ให้คุมพล 5,000 ยกลงมาทำร้ายราษฎรทาง เมืองวิเศษชัยชาญ จึงรับสั่งให้เทียบเรือเข้าข้างฝั่ง แลัวยกพลเข้าโจมตีข้าศึก พระองค์ทรงยิง พระแสงปืน ถูกนายทัพฝ่ายเชียงใหม่ตาย ข้าศึกก็แตกหนีไปทางเหนือ พวกพลอาสาก็ติดตามขึ้นไป จนปะทะหน้าของพระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งมีพระยาเชียงแสนเป็นแม่ทัพ ฝ่ายไทย เมื่อเห็นว่าฝ่ายข้าศึกมีกำลังมากกว่า ต้านทานไม่ไหวจึงล่าถอยลงมา พวกเชียงใหม่ก็ไล่ติดตามมา พระองค์จึงให้เลื่อนเรือพระที่นั่ง พร้อมทั้งเรือที่อยู่ในกระบวนเสด็จ ขึ้นไปรายลำอยู่ข้างเหนือปากคลองป่าโมกน้อย พอข้าศึกไล่ตามกองอาสามาถึงที่นั้น ก็ให้เอาปืนใหญ่น้อยระดมยิงข้าศึกไปจากเรือ ได้มีการรบพุ่งกันในระยะประชิด พอกองทัพทางบกจากกรุงตามขึ้นไปทัน จึงเข้าช่วยรบพุ่ง กองทัพพระยาเชียงแสน ก็ถอยหนีขึ้นไปทางเหนือ พระองค์จึงทรงให้รวบรวมกองทัพทั้งปวงไว้ที่ตำบลป่าโมก

ที่บริเวณหลังตลาดป่าโมก ตรงข้ามกับอำเภอป่าโมกในปัจจุบัน มีทุ่งใหญ่อยู่ทุ่งหนึ่งเรียกว่า ทุ่งเอกราช คงจะได้ชื่อจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น

ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่ตั้งอยู่ที่บ้านสระเกศ เห็นกองทัพหน้าแตกกลับมา ก็คาดว่าสมเด็จพระนเรศวรคงจะยกกองทัพตามขึ้นไป จึงปรึกษาแม่ทัพนายกองทั้งปวงเห็นว่า ควรจะยกกำลังเป็นกองทัพใหญ่ ชิงเข้าตีกองทัพไทยเสียก่อน จึงได้จัดแจงทัพให้พระยาเชียงแสนกับ สะเรนันทสู เป็นทัพหน้าคุมกำลัง 15,000 กองทัพหลวง ของพระเจ้าเชียงใหม่มีกำลัง 60,000 คน กำหนดจะยกลงมาในวันแรม 2 ค่ำ เดือน 5 ปีระกา พ.ศ. 2128

สมเด็จพระนเรศวรทรงพระดำริว่า กองทัพพระยาเชียงแสนที่ถอยหนีไปนั้น น่าไปรวบรวมกำลังเพิ่มเติมแล้วยกกลับมาอีก แต่เมื่อรออยู่หลายวันก็ยังไม่ยกลงมา น่าจะคิดทำอุบายกลศึกอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงดำรัสสั่งให้ พระราชมนู คุมกำลังพล 10,000 ยกขึ้นไปลาดตระเวณหยั่งกำลังข้าศึก ส่วนพระองค์กับสมเด็จพระเอกาทศรถ ก็เสด็จยกทัพหลวงมีกำลังพล 30,000 ตามขึ้นไป

กองทัพพระราชมนูยกขึ้นไปถึงบางแก้ว ก็ปะทะกับทัพหน้าของพระเจ้าเชียงใหม่ สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปถึงบ้านแห ได้ยินเสียงปืนใหญ่น้อยจากการปะทะกันหนาแน่นขึ้นทุกที จึงทรงพระดำริจะใช้กลยุทธเอาชนะข้าศึกในครั้งนี้ โดยให้หยุดกองทัพหลวง แล้วแปรกระบวนไปซุ่มอยู่ที่ป่าจิกป่ากระทุ่ม ข้างฝั่งตะวันตก แล้วให้ข้าหลวงขึ้นไปสั่งพระราชมนูให้ล่าถอยลงมา ฝ่ายพระราชมนูไม่ทราบพระราชประสงค์ เห็นว่ากำลังรี้พลไล่เลี่ยกับกองทัพหน้าของข้าศึก พอจะต่อสู้รอกองทัพหลวงขึ้นไปถึงได้จึงไม่ถอยลงมา พระองค์จึงให้จมื่นทิพรักษาขึ้นไปเร่งให้ถอยอีก พระราชมนูก็สั่งให้มากราบทูลว่า กำลังรบพุ่งติดพันกับข้าศึกอยู่ ถ้าถอยลงมาเกรงจะเลยแตกพ่ายเอาไว้ไม่อยู่ ครั้งนี้พระองค์ทรงพิโรธ ดำรัสสั่งให้จมื่นทิพรักษา คุมทหารม้าเร็วกลับไปสั่งพระราชมนูให้ถอย ถ้าไม่ถอยให้ตัดศีรษะพระราชมนูมาถวาย พระราชมนูจึงโบกธงให้สัญญาณถอยทัพ ขณะนั้นกองทัพหลวงพระเจ้าเชียงใหม่ยกหนุนมาถึง สำคัญว่ากองทัพไทยแตกหนี ก็ยกทัพไล่ติดตามมาโดยประมาทไม่เป็นกระบวนศึก จนถึงพื้นที่ที่สมเด็จพระนเรศวรซุ่มกองทัพหลวงไว้ พระองค์เห็นข้าศึกเสียกลสมประสงค์ ก็ให้ยิงปืนโบกธงสัญญาณ ยกกองทัพหลวงเข้าตีกลางกองทัพข้าศึก ฝ่ายพระราชมนูเห็นกองทัพหลวงเข้าตีโอบดังนั้น ก็ให้กองทัพของตน กลับตีกระหนาบข้าศึกอีกทางหนึ่ง ได้รบพุ่งกันถึงขั้นตะลุมบอน กองทัพเชียงใหม่ก็แตกพ่ายไปทั้งทัพหน้าและทัพหลวง ทัพเชียงใหม่เสียนายทหารชั้นผู้ใหญ่ถึง 7 คน คือ พระยาลอ พระยากาว พระยานคร พระยาราย พระยางิบ สมิงโยคราช และสะเรนันทสู กองทัพไทยยึดได้ช้างใหญ่ 20 เชือก ม้า 100 เศษ กับเครื่องศัตราวุธอีกเป็นอันมาก

สมเด็จพระนเรศวร เห็นโอกาสที่จะไม่ให้ข้าศึกตั้งตัวติด จึงได้เสด็จยกทัพหลวงติดตามข้าศึกไปจนพลบค่ำ จึงให้พักแรมที่บ้านชะไว แล้วยกทัพต่อไปแต่กลางดึก ให้ถึงบ้านสระเกศเข้าตีค่ายพระเจ้าเชียงใหม่ตอนเช้าตรู่ ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่เมื่อถอยหนีกลับไปถึง บ้านสระเกศแล้ว ทราบว่ากองทัพไทยยกติดตามขึ้นไป ก็รีบถอนทัพหนีกลับไปแต่ตอนกลางคืน เมื่อกองทัพไทยติดตามไปถึงตอนเช้า พบข้าศึกกำลังถอยหนีกันอลหม่าน กองทัพไทยก็ยึดค่ายพระเจ้าเชียงใหม่ได้จับได้พระยาเชียงแสน และรี้พลเป็นเชลยรวม 10,000 คนเศษ กับช้าง 120 เชือก ม้า 100 เศษ เรือรบและเรือเสบียงรวม 400 ลำ เครื่องศัตราวุธยุทธภัณฑ์และเสบียงอาหารเป็นอันมาก รวมทั้งติดตามข้าศึกไปจนถึงเมืองนครสวรรค์ เมื่อทรงเห็นว่าพระเจ้าเชียงใหม่หนีไปสมทบกับกองทัพพระมหาอุปราชา แล้วจะติดตามไปไม่ได้อีกจึงยกทัพกลับ ครั้งนั้น สมเด็จพระมหาธรรมราชา ได้จัดกองทัพหลวงเสด็จโดยขบวนเรือจากกรุงศรีอยุธยา กำลังหนุนขึ้นไปถึงปากน้ำบางพุทรา เมื่อได้ทราบผลการรบแล้ว จึงมีรับสั่งให้เลิกกองทัพกลับกรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระนเรศวรทรงได้ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ พระองค์ได้รับการยกย่องเทิดทูนจากมหาชนอย่างกว้างขวาง พระองค์ทรงมุ่งที่จะขยายผลการได้ชัยชนะออกไปอีก เพื่อกอบกู้ราชอาณาจักรไทยให้ยิ่งใหญ่ แต่สมเด็จพระราชบิดาทรงเห็นเห็นว่า เมื่อได้อิสรภาพคืนมาก็เพียงพอแล้ว เพราะต้องการพื้นฟูบ้านเมือง ให้กลับพื้นคืนดีบริบูรณ์เหมือนแต่ก่อน ดังนั้นหลังศึกพระเจ้าเชียงใหม่แล้ว ทางกรุงศรีอยุธยาก็ได้เร่งรัดการทำนาในหัวเมืองชั้นในที่ขึ้นตรงต่อพระนคร เมื่อถึงฤดูฝนก็ให้เร่งทำนาทุกพื้นที่ และเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว เมื่อได้ข้าวมาแล้วก็ให้ขนข้าวมาสะสมไว้ในกรุง เพื่อไว้ใช้เป็นเสบียงอาหาร เมื่อมีศึกมาล้อมศึก ข้าวที่เกี่ยวได้ไม่ทันก็ให้เผาทำลายเสียมิให้ข้าศึกใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนั้นยังได้เร่งจัดหาสรรพวุธ พาหนะและกำลังพล เพื่อเตรียมต่อสู้ข้าศึกที่ประมาณการณ์ว่า จะยกกำลังเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาอีกในอนาคตอันใกล้ ส่วนบรรดาผู้คนที่อพยพหลบภัยข้าศึก กระจัดกระจายอยู่ตามป่าตามดงนั้น พระองค์ก็ได้ทรงเลือกสรรบรรดาทหารที่ชำนาญป่า จัดตั้งเป็นนายกองอาสา ออกไปเกลี้ยกล่อมให้เกิดมีใจรักชาติ มีความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้ข้าศึกศัตรูของชาติ แล้วจัดตั้งเป็นหน่วยกองโจรอยู่ตามป่า คอยทำสงครามแบบกองโจร ทำลายการส่งเสบียงอาหารของข้าศึก